การบริหารจัดการระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เชิงบูรณาการเพื่อป้องกันและลดอาชญากรรม
สวัสดีครับ..อาทิตย์นี้ นานาสาระ กับกล้องวงจรปิด เรามีข่าวแจ้งให้ทราบเพื่อเป็นความรู้ซึ่งคงจะหนีไม่พ้นเกี่ยวกับเรื่องกล้องวงจรปิด โดยทางคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคมวุฒิสภา เสนอรัฐบาลและกทม.ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเป็น 40,000ตัว ในสิ้นปีนี้และแนะออกเทศบัญญัติให้ชุมชนเสียค่าเช่ากล้องที่จะนำไปติดตั้งบริเวณหน้าบ้านเพื่อแลกกับความปลอดภัย
นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการสัมมนาระดมสมองครั้งที่ ๒ เรื่อง “การบริหารจัดการระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เชิงบูรณาการเพื่อป้องกันและลดอาชญากรรม” ว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้จัดการสัมมนาระดมสมองเรื่อง “โทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ช่วยลดอาชญากรรมได้อย่างไร” ไปเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ซึ่งผลสรุปจากการสัมมนาครั้งดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า CCTV มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ในการลดอาชญากรรม อีกทั้งยังสามารถลดการสูญเสียทางสังคมและ เศรษฐกิจได้อีกด้วย ซึ่งการที่ระบบ CCTV จะสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงนั้นต้องสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบ โดยที่ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนจะต้องเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมในระบบด้วย รวมทั้งจะต้องมีการกำหนดให้ CCTV เป็นเสมือน สาธารณูปโภคชนิดหนึ่ง ที่ภาครัฐต้องทำหน้าที่ลงทุนด้าน infrastructure เพื่อความมั่นคงและปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีของระบบ CCTV นี้มีการเปลี่ยนแปลงและหมดสภาพในเวลาอันรวดเร็ว จึงไม่เหมาะสมกับระบบจัดซื้อ จัดจ้างของภาครัฐที่มีขั้นตอนและใช้เวลานาน รวมทั้งไม่ควรมีความซ้ำซ้อนในการดำเนินการติดตั้งระบบ CCTV ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมี องค์กรหลักในการบริหารจัดการ CCTV เชิงนโยบาย มีงบประมาณดูแลระบบได้อย่างเป็นเอกเทศ ซึ่งต้องไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ แต่ควรเป็นลักษณะขององค์การมหาชนที่มีกฎหมายรองรับ โดยอาจจะทำในรูปของเทศบัญญัติ กฎกระทรวง หรือ พระราชบัญญัติตามแต่ความเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบ CCTV ของประเทศโดยรวมมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า ที่ผ่านมากล้องวงจรปิดช่วยให้จับกุมคนทำผิดและช่วยปิดคดีได้มากถึงร้อยละ 70 ขณะที่ปีนี้ จะติดตั้งเพิ่มอีก 10,082 ตัว จากปัจจุบัน 3,669 ตัว สำหรับผลการสัมมนาครั้งนี้ จะสรุปเป็นแผนดำเนินการก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนมีนาคมหรือเมษายนนี้
นับเป็นการรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของกล้องวงจรปิด และเข้าใจถึงประโยชน์ที่มีประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลง ขโมยกะโจรมีมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีไม่เพียงพอ
ทิศทางของกล้องวงจรปิดในอนาคต จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น..คำถามที่อยากจะถามคุณผู้อ่าน..ว่า แล้วตอนนี้ท่านได้ตระหนักให้ความสำคัญกับทรัพย์สินและชีวิตความปลอดภัยของท่านแล้วเหรอยัง?..
|