กล้องวงจรปิดกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ใช้กล้องวงจรปิดกันอย่างกว้างขวาง ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่า ตัวท่านเองไม่ถูกละเมิดสิทธิในเรื่องนี้ บางหน่วยงานแม้ขณะนั่งทำงาน ยังมีกล้องบันทึกตลอดเวลา
ไปดูที่กองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการตรวจจับสัญญาณไฟจราจร เพื่อตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร พบว่าเพียง ๔ เดือน มีผู้ขับขี่รถฝ่าฝืนสัญญาณไฟไปแล้ว ๑๘๓,๓๐๓ ราย เก็บค่าปรับรายละ ๕๐๐ บาท ได้เงินรวม ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทแล้ว จาก ๓๐ สี่แยกทั่วกทม. นี่มองในด้านที่ได้
กทม.ใช้กล้องวงจรปิดเพื่อความมั่นคง ๖๙๙ ตัว อยู่ในเขตพระราชฐาน ๓๙๙ ตัว อยู่ในเขตพื้นที่ชั้นใน ๓๐๐ ตัว รวมกับกล้องที่ดูเรื่องการจราจรแล้ว กทม.มีกล้องวงจรปิดราว ๓,๐๐๐ ตัว ในงบประมาณปีนี้ กทม.จะมีกล้องเพิ่มขึ้นอีก ๑๐,๐๐๐ ตัว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นอกจากนี้กทม.ยังขอความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานีบริการน้ำมันฯ เชื่อมต่อสัญญาณร่วมกับหน่วยงานราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัย
ภายในปี ๒๕๕๕ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเปิดศูนย์บูรณาการข้อมูลการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ ใช้กล้องวงจรปิดเชื่อมโยงข้อมูล ประชาชนสามารถดูข้อมูลทางออนไลน์ ดูจากมือถือได้ หมายความว่าข้อมูลในกล้องวงจรปิดมีช่องทางเผยแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง
ด้านสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้งบประมาณ ๖๙๖ ล้านบาท ในจังหวัดนราธิวาสใช้การได้แล้วในเวลานี้
นอกจากนั้นจังหวัดต่างๆได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างกว้างขวาง รวมความแล้วทันทีที่ท่านออกจากบ้าน ท่านจะถูกบันทึกไว้ในกล้องวงจรปิดตลอดทาง ตลอดเวลา แต่คำถามมีว่า
หนึ่ง ข้อมูลในกล้องวงจรปิดมีมาตรฐาน หรือมีแนวทางที่เหมาะสมในการเผยแพร่หรือยัง
สอง เจ้าหน้าที่ๆใช้กล้องวงจรปิด มีใครเป็นผู้ควบคุมดูแล และรับผิดชอบ
สาม การนำข้อมูลที่บันทึกไปตัดต่อ ประมวลผล เพื่อติดตาม สังเกตพฤติกรรมบุคคล เฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และความเป็นอยู่ส่วนตัว ทำได้อย่างไร
สี่ การนำภาพที่บันทึกมาเผยแพร่ ทำซ้ำ นำมาออกสื่อ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ได้รับผลกระทบ ทำได้อย่างไร
การนำข้อมูลส่งผ่านสัญญาณทางอินเตอร์เนต เห็นพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นส่วนตัวที่ควรปกปิดทำได้อย่างไรฯ
ปัญหาสำคัญในเวลานี้คือ เท่าที่ทราบ ทุกหน่วยยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล ไม่มีระบบเฝ้าระวังให้กับบุคคลทั่วไปหรือสาธารณะ กล้องวงจรปิดยังละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวตามรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ฯ
จึงมีคำถามว่า ใครจะศึกษาข้อมูลการละเมิดสิทธิ่วนบุคคลโดยการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิด จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ใครจะศึกษา วิจัย กำหนดมาตรการควบคุมการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อเป็นกฎกติกา เป็นกฎหมาย ในการใช้ให้ชัดเจน
ที่ผ่านมาแม้แต่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนหนึ่ง ก็เดือดร้อนเพราะข้อมูลจากกล้องวงจรปิดในกระทรวงตัวเองมาแล้ว นึกขึ้นมาครั้งใดคงยังเจ็บใจไม่หาย เพราะสังคมไทยใช้เทคโนโลยีให้มีปัญหาก่อน แล้วจึงค่อยคิดกฎกติกา หรือว่าไม่จริง
|