นักศึกษากับอุบัติเหตุทางรถยนต์
หลายครั้งกับข่าวความสูญเสียที่เกิดกับนิสิต-นักศึกษาที่ขับรถยนต์และเกิดอุบัติเหตุ และเกือบทุกครั้งสาเหตุที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นเรื่องของ "ขับรถเร็ว ดื่มฉลอง เมาแล้วขับ และหลับใน" ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ มักมีคำถามตามมามากมาย อาทิ ทำไมนิสิต-นักศึกษาที่กำลังก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัย และเพิ่งครบวัยทำใบอนุญาตขับรถยนต์ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ถึงต้องรีบร้อนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งโดยเฉพาะของเอกชนจะมีนิสิต-นักศึกษานำรถยนต์มาใช้กันเป็นจำนวนมาก
จากการศึกษาพบว่าบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จะเข้มงวดกับผู้ขับขี่หน้าใหม่ โดยมีการออกใบอนุญาตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (Graduate licensing) ได้แก่ การเรียนและสอบขอใบอนุญาตไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง เมื่อสอบผ่านได้ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราวแล้ว ยังต้องขับโดยมีผู้มีประสบการณ์นั่งไปด้วย ห้ามขับเวลากลางคืน ฯลฯ และที่สำคัญคือ ถ้ามีการเมาแล้วขับจะถูกยึดใบอนุญาตขับรถยนต์ทันที ซึ่งในบ้านเมืองเราน่าจะมีความเข้มงวดเช่นนี้บ้าง
นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยสำคัญของความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มนิสิต-นักศึกษาที่ขับรถยนต์ คือ การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ รวดเร็ว การใช้ชีวิตด้วยความสนุกสนาน จนเลยเถิดไปถึงความประมาท รวมไปถึงปัจจัยจากสิ่งเร้าอย่างสุรา ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ผลจากการสำรวจที่น่าเชื่อถือ พบว่า ปัจจุบันรอบสถาบันการศึกษายังคงมีร้านเหล้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของบรรดานิสิต-นักศึกษาก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยนิสิต-นักศึกษาเหล่านี้ยังไม่ตระหนักถึงอันตรายในการขับรถเมื่อดื่มสุรา คิดเพียงแค่ว่าตัวเองขับขี่ได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นอันตรายกับตัวเองแล้ว ยังอาจส่งผลต่อเพื่อนที่คนที่โดยสารมาด้วยกัน รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า นิสิต-นักศึกษาที่ขับรถยนต์ และเกิดอุบัติเหตุมักเกิดจากปัจจัยดังนี้ 1) การขาดประสบการณ์ในการขับขี่ และวุฒิภาวะในการตัดสินใจ แต่ต้องขัยรถยนต์เอง 2) การขับรถเร็ว 3) ดื่มแล้วขับ โดยการเกิดอุบัติเหตุที่จะมาจากทั้ง 3 ปัจจัยนี้มักอยู่ในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองหรือเทศกาลต่างๆ อาทิ รับปริญญา เลี้ยงวันเกิด ปีใหม่ วาเลนไทน์ สงกรานต์ ฮัลโลวีน ลอยกระทง เป็นต้น
การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ควรเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่นิสิต-นักศึกษา ช่วยให้ความรู้ด้านทักษะการขับขี่ นอกจากนี้หากเป็นไปได้ทางกรมการขนส่งทางบกควรทบทวนและพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตการใช้รถยนต์อย่างเข้มงวด หรือมีการใช้ระบบ graduate licensing ในกลุ่มเยาวชนให้เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น หรือออสเตรเลียจะเยี่ยมมาก
นอกจากนี้สถานศึกษาควรทบทวนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของนิสิต-นักศึกษา ว่าจะมีมาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรมอย่าง ไร รวมถึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลป้องกันการเกิดขึ้นของร้านสุราบริเวณโดยรอบของสถานศึกษา และสุดท้ายที่จะลืมไม่ได้คือ บรรดาผู้ปกครองก็ควรคิดให้รอบคอบก่อนสนับสนุนให้บุตร หลานใช้รถยนต์ และถ้าจำเป็นต้องมีก็ควรมีเงื่อนไข อาทิ การกำกับช่วงเวลาใช้ โดยเฉพาะการขับขี่กลางคืน เดินทางต่างจังหวัด หรือการต้องไปเที่ยวฉลองในงานต่างๆ
เชื่อว่าหากหลายฝ่ายร่วมมือกัน อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากการขับขี่ของนิสิต-นักศึกษา ก็น่าจะลดจำนวนลง และยังช่วยรักษาชีวิตเพื่อนร่วมถนนท่านอื่นได้มากขึ้น อีกทั้งเราก็จะได้ไม่สูญเสียนิสิต-นักศึกษาที่เป็นกำลังของชาติเราไว้ได้อีกด้วย
|