ข้อกำหนดการเดินสายและวัสดุเบื้องต้น
สายไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ และการใช้งาน
ในอาคารสายไฟที่ใช้กันโดยทั่วไป เป็นชนิดตัวนำทองแดงหุ้มด้วยฉนวนพีวีซีที่ผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 11-2431 การติดตั้งระบบไฟฟ้าในอาคารส่วนใหญ่ใช้สายไฟชนิดต่าง ๆ ดังนี้
สายไฟ VAF เป็นสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดัน 300 โวลต์ เป็นสายไฟฟ้าที่มีทั้งชนิด 2 แกน และ 3 แกน และ 2 แกนแบบมีสายดิน ชนิดที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องตลาด คือสายไฟฟ้า VAF แบบ 2 แกน หรือที่เรียกว่า “สายคู่” หรือ “สายพีวีซีคู่” ซึ่งนิยมรัดด้วยเข็มขัดรัด (Clip) ยึดเกาะติดผนัง สายชนิดนี้ห้ามใช้ในวงจร 3 เฟส 380 โวลต์
การใช้งาน
- เดินเกาะผนัง หรือเดินซ่อนในผนัง
- ห้ามเดินร้อยในท่อ เพราะอาจทำให้สายไฟฟ้าบิดตัวและชำรุดได้
สายไฟฟ้า THW เป็นสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดัน 750 โวลต์ มีตัวนำแกนเดียวหุ้มฉนวน 1 ชั้น สำหรับเดินเป็นสายไฟฟ้าเมนเข้าอาคารและเดินภายใน สำหรับบ้านพักอาศัยที่ใช้ระบบแรงดัน 220 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เดินในวงจร 380 โวลต์ 3 เฟส 3 สาย ทั่วไป
การใช้งาน
- เดินลอย ต้องยึดด้วยวัสดุฉนวน
- เดินในช่องเดินสาย หรือในรางเดินสาย
- เดินในท่อร้อยสายฝังดินได้ หากสามารถป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปภายในท่อได้
- ห้ามเดินฝังดินโดยตรง
สายไฟฟ้า NYY เป็นสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดัน 750 โวลต์ ลักษณะเป็นสายกลมที่มีจำนวนแกนตั้งแต่ 1 แกนถึง 4 แกน ชนิด 1 แกนจะมีเปลือกหุ้มทับชั้นฉนวน 1 ชั้น ส่วนชนิด 2 – 4 แกนจะมีเปลือกหุ้มทับฉนวนอีก 2 ชั้น สำหรับเดินเป็นสายเมนเข้าอาคารบ้านพักอาศัย กรณีที่เดินสายไฟฟ้าใต้ดินและใช้ในวงจรทั่วไปที่เดินใต้ดิน
การใช้งาน
-
ใช้งานได้ทั่วไป
- เดินในท่อร้อยสาย และในรางเดินสาย
- เดินฝังดินโดยตรง
สายไฟฟ้า NYY - N เป็นสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดัน 750 โวลต์ ลักษณะเป็นสายกลมชนิด 4 แกน มีสายไฟอยู่ 3 แกน และมีสายศูนย์หรือสายนิวทรัล อีก 1 แกน ใช้สำหรับเดินสายไฟฟ้าเมนเข้าอาคาร ที่ใช้ระบบแรงดัน 380/220 โวลต์ 3 เฟส 4 สาย
การใช้งาน
- ใช้งานได้ทั่วไป
- เดินในท่อร้อยสาย และในรางเดินสาย
- เดินฝังดินโดยตรง
สายไฟฟ้า NYY – G เป็นสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดัน 750 โวลต์ ลักษณะเป็นสายกลมชนิดแกน คือ มีสายไฟอยู่ 3 แกน และมีสายดินหรือสายกราวด์ อีก 1 แกน ใช้สำหรับเดินเป็นสายไฟฟ้าเมนเข้าอาคาร ที่ใช้ระบบแรงดัน 380/220 โวลต์ 3 เฟส 4 สาย
การใช้งาน
- ใช้งานได้ทั่วไป
- เดินในท่อร้อยสาย และในรางเดินสาย
- เดินฝังดินโดยตรง
สายไฟฟ้า VCT – G เป็นสายไฟฟ้าชนิดแรงดัน 750 โวลต์ ลักษณะเป็นสายกลมที่มีจำนวนแกนตั้งแต่ 1 แกน ถึง 4 แกน ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างคล้ายกันกับสายไฟฟ้า VCT แต่มีสายดินหรือสายกราวด์ เพิ่มอีก 1 แกน สำหรับการต่อลงโดยเฉพาะ
การใช้งาน
- เดินในท่อร้อยสาย
- เดินในรางเดินสาย หรือวางบนรางเคเบิล
- เดินฝังดินโดยตรง
สีของสายไฟฟ้า
ความสำคัญอย่างมากอีกอย่างหนึ่งก็คือรหัสสีที่จะทำให้ทราบว่า สายไฟฟ้าเส้นนั้นเป็นสายอะไร หรือท่อร้อยสายไฟฟ้าเป็นท่อร้อยสายไฟฟ้าประเภทใด ทำให้สะดวกต่อการซ่อมแซมบำรุงรักษา และใช้งานได้อย่างถูกต้องปลอดภัย
รหัสสีของสายไฟฟ้า ตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า ได้กำหนดสีของสายไฟหุ้มฉนวนระบบแรงต่ำดังนี้
- ตัวนำนิวทรัล ให้ใช้สีเทาอ่อน หรือ สีขาว
- สายเส้นไฟ ต้องมีสีต่างไปจากสายนิวทรัล และตัวนำสำหรับต่อลงดิน
- สายไฟฟ้าในระบบ 3 เฟส ให้ใช้สายที่มีสีฉนวน หรือ ทำเครื่องหมายเป็นดังนี้ เฟส 1 ใช้สีดำ เฟส 2 ใช้สีแดง เฟส 3 ใช้สีน้ำเงิน
- สายดินของบริภัณฑ์ไฟฟ้า ให้ใช้สีเขียว หรือ สีเขียวแถบเหลือง
รหัสของท่อไฟฟ้า และกล่องพักสาย รหัสสีของท่อไฟฟ้ามีประโยชน์มาก ทำให้ทราบได้ว่า สายในท่อเป็นสายอะไร ซึ่งกระทำได้โดยมีเครื่องหมายแสดงสีทุกระยะ 1 เมตร โดยรวมทั้งข้อต่อ และกล่องพักสาย ตามตาราง
การต่อสายไฟฟ้าแบบต่าง ๆ
วิธีการต่อสายไฟฟ้า งานเดินสายไฟฟ้าจำเป็นต้องมีการต่อสายไฟฟ้า อาจมาจากหลายเหตุด้วยกันคือ สายไฟฟ้ายาวไม่พอ จำเป็นต้องต่อแยกสายไฟฟ้าไปในทางอื่น วิธีการต่อสายไฟฟ้าที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในการทำงาน และในการต่อใช้งาน เพราะการต่อสายที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดการอาร์กของจุดต่อทำให้เกิดความร้อนสูง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้
1. การปลอกสายไฟฟ้า โดยใช้ใบมีดคัตเตอร์หรือใช้มีบางขนาดเล็ก กำหนดความยาวของสายที่จะปอก โดยการใช้มีดจะมีลักษณะคล้ายกับการเหลาดินสอ อย่าปอกสายไฟฟ้าโดยการใช้มีดกดลงบนสายเป็นมุม 90 องศาเพราะคมมีดจะกินเข้าไปในเนื้อโลหะตัวนำของสายไฟฟ้า เมื่อนำสายไฟฟ้าไปใช้งาน มักจะหักตรงรอบที่ถูกมีด
2. การต่อสายเข้าจุดต่อสายแบบสกรูยึด การคล้องสายไปรอบสกรูยึด ต้องคล้องโดยหมุนโค้งสายไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา หมุนสกรูให้แน่น
3. การต่อสายด้วยวายร์นัต เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ทำหน้าที่ช่วยในการต่อสายไฟฟ้าเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องพันเทปฉนวน ช่วยให้สะดวกขึ้น การต่อสายไฟฟ้าแบบนี้ทำโดยนำสายไฟฟ้าที่ต้องการต่อสายเข้าด้วยกัน ปอกฉนวนแล้วหมุนลวดตัวนำให้ติดกัน นำวายร์นัตครอบลงไปที่ปลายสายทั้งสองจนสุด หมุนวายร์นัตไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกาจนสายไฟฟ้าแน่น
4. การต่อสายแบบหางเปีย การต่อสายโดยปอกฉนวนของสายไฟที่ต้องการจะต่อกันให้ยาวพอประมาณทั้งสองเส้น วางให้ส่วนที่เป็นตัวนำของสายทั้งสองให้กับกัน ใช้มือหรือคีมบิดส่วนที่ไม่มีฉนวนหุ้ม เพื่อตีเกลียวให้แน่น เพื่อความแข็งแรง และสวยงาม หลังจากนั้นนำวายร์นัตสวม ขันให้แน่น ซึ่งจะใช้กับสายไฟที่มีพื้นที่หน้าตัดไม่เกิน 2.50 ตารางมิลลิเมตร
กฎการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า
สายเมนหรือสายป้อนเป็นวงจรไฟฟ้าที่เป็นวงจรย่อย มีวิธีการเดินสายอยู่หลายวิธีด้วยกันเพื่อให้เลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม แต่ละวิธีมีข้อกำหนดการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงรายละเอียดของแต่ละวิธีการ เพื่อให้การออกแบบและการใช้งานมีความประหยัด ปลอดภัย สวยงาม ข้อกำหนดและวิธีการเดินสายนี้ไม่รวมถึงการเดินสายภายในเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบสำเร็จรูปมาจากโรงงาน
ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเดินสาย จุดประสงค์เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สะดวดในการใช้งานและการบำรุงรักษา รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษาอีกด้วย ข้อกำหนดที่สำคัญโดยทั่วไปมีดังนี้ การเดินสายไฟฟ้าที่มีแรงดันต่างกัน การติดตั้งใต้ดิน การติดตั้งวัสดุ และการจับยึด การป้องกันไม่ให้เกิดกระแสเหนี่ยวนำ การป้องไฟลุกลาม การกำหนดสีของสายไฟหุ้มฉนวนระบบแรงต่ำ ข้อกำหนดการเดินสายสำหรับระบบแรงสูง
การเดินสายไฟฟ้าแบบลอย
อาคารขนาดเล็กหรือบ้านพักอาศัย สามารถแบ่งการเดินสายออกเป็น 2 ส่วน คือ การเดินสายไฟฟ้าภายนอกอาคาร และการเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และงบประมาณด้านค่าใช้จ่าย
การเดินสายไฟฟ้าในท่อร้อยสาย
ในปัจจุบันท่อร้อยสายไฟฟ้าที่ใช้งานมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งานจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานและเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ดังนี้
1. การเดินสายไฟฟ้าในท่อโลหะหนา ปานกลาง และ บาง
2. การเดินสายในท่อโลหะอ่อน
3. การเดินสายในท่อโลหะอ่อนกันของเหลว
4. การเดินสายในท่ออโลหะแข็ง
5. การเดินสายในช่องเดินสายอโลหะบนพื้นผิว
6. การเข้าหัวท่อ และการต่อท่อร้อยสายไฟฟ้า
ติดตามข่าวสารที่ LINE : @cctvbangkok.com
|