ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันมีความต้องการใช้อย่างมากในสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล เป็นต้น พลังงานไฟฟ้าจำเป็นต้องจัดหาเพื่อจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า กล้องวงจรปิด CCTV ให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าระบบไฟฟ้าขัดข้อง และไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้จะทำให้เกิดความไม่สะดวก จำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญ หรือใช้ในยามฉุกเฉิน เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องติดตั้งชุดจ่ายไฟฟ้าสำรอง (UPS) เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์เหล่านั้น
ชุดจ่ายไฟฟ้าสำรองต่อเนื่อง (UPS)
ปัจจุบันถูกนำมาใช้แก้ปัญหาจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าสำหรับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้พิเศษ เนื่องจาก UPS ทำหน้าที่ กรองคลื่นรบกวนไฟฟ้า ปรับแรงดันไฟฟ้า ปรับความถี่ไฟฟ้า จ่ายพลังไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง จากสถิติการใช้งานพบว่า สามารถแก้ปัญหาทางไฟฟ้าได้มากถึง 99%
ไฟฟ้าฉุกเฉิน (Emergency Light)
ระบบที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เป็นมาตรฐานกำหนดบังคับสำหรับระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน และป้ายทางออกฉุกเฉิน เพื่อใช้ในการอพยพ และหนีภัย ระบบจ่ายกำลังไฟฟ้าฉุกเฉินนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาการหยุดชะงักการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งหากระบบไฟฟ้าออกแบบมาให้แข็งแรง และทนทานต่อความร้อนจากอัคคีภัย เพื่อช่วยชีวิตคนในพื้นที่นั้น เรียกว่า “ระบบไฟฟ้าช่วยชีวิต” ซึ่งการจัดทำระบบจ่ายกำลังไฟฉุกเฉินมีอยู่ 4 วิธี คือ
1. ใช้แบตเตอรี่สำรองพลังงาน
2. ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าฉุกเฉิน
3. แยกระบบการใช้งานฉุกเฉินออกจากระบบปกติ
4. ใช้แหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้าอื่นมาต่อเชื่อมเข้าในระบบที่เกิดขัดข้อง
ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm)
ระบบสัญญาณเตือนไฟอัตโนมัติ คือ อุปกรณ์ที่สามารถรับรู้ถึงไฟไหม้ที่เกิดขึ้นแล้ว สามารถส่งสัญญาณไปยังชุดควบคุมให้พร้อมที่จะสั่งกระดิ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไฟไหม้ทำงานได้ โดยปราศจากการควบคุมโดยคน เป็นการทำงานโดยอัตโนมัตินั่นเอง
สำหรับอุปกรณ์การตรวจสอบเพลิงไหม้มีหลักใหญ่ ๆ สองประการคือ
1. จะต้องไม่ระเบิด หรือเกิดความเสียหายจากเพลิงไหม้ แต่จะต้องรับรู้ ถึงเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นและต้องส่งสัญญาณกลับไปยังชุดควบคุมได้
2. จะต้องสามารถป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดอันเนื่องมาจากอุปกรณ์ตรวจสอบเพลิงไหม้ หรือเกิดจากสัญญาณหลอกที่มาจากอุปกรณ์ตรวจสอบเพลิงไหม้ได้
ในระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้อัตโนมัติมีอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ
- ระบบ Hard Wire จะมีรายละเอียดในการทำงานไม่ชัดเจน จึงเหมาะสำหรับการติดตั้งในอาคารที่มีขนาดไม่ใหญ่หรือไม่สูงเกินไปนัก และสามารถยอมรับสภาพการแจ้งเหตุ ซึ่งแก้ปัญหาได้ด้วยการติดตั้งระบบโทรศัพท์ในแต่ละชั้น
- ระบบ Addressible หรือ Multiplex เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ข้อบกพร่องของระบบ Hard Wire โดยในระบบนี้อุปกรณ์แจ้งเหตุจะถูกส่งผ่านมายัง Monitor Module (MM) และสั่งงานไปยังอุปกรณ์ เช่น กระดิ่งและลำโพง
นอกจากนี้การต่อสายของอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้จะสามารถต่อได้ 2 แบบคือ
1. แบบ 4 สาย (Class A) วงจรนี้สามารถแจ้งสัญญาณเพลิงไหม้ได้ ถึงแม้ว่า สายจะขาดที่จุดใดจุดหนึ่งหรือในกรณีที่สายลัดวงจรที่จุดหนึ่งจุดใดก็ยังสามารถแจ้งเหตุได้
2. แบบ 2 สาย (Class B) ใช้ทั้งแจ้งสัญญาณเพลิงไหม้และจ่ายไฟไปที่เครื่องตรวจจับควันในวงจรเดียวกัน สามารถรับสัญญาณเพลิงไหม้จากเครื่องตรวจจับเพลิงพร้อมกันได้หลายตัว และที่ปลายวงจรจะมีตัวต้านทานติดไว้เพื่อใช้เป็นจุดจบของสาย
ชนิดของอุปกรณ์
อุปกรณ์จะมีหลายอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้อัตโนมัติ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติแบบ Hard Wire ซึ่งระบบนี้จะประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนแบบอุณหภูมิคงที่ อุปกรณ์ตรวจจับอัตราการเพิ่มความร้อน อุปกรณ์การตรวจจับควัน อุปกรณ์แจ้งสัญญาณเตือนไฟไหม้ด้วยมือ กล่องรวมอุปกรณ์ ชุดกระดิ่งหรือไซเรน
แผงควบคุมแผงแจ้งเหตุ (Annunciation) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. ชุดแจ้งสัญญาณเหตุ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แจ้งให้ทราบว่า ในขณะนี้ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ชั้นใด โดยที่การแจ้งสัญญาณเหตุนี้จะรับสัญญาณมาจากตู้ควบคุม อุปกรณ์ตัวนี้อาจเปรียบได้กับเป็นตัวลูกของชุดควบคุม ซึ่งทำหน้าที่แจ้งสัญญาณให้ชุดควบคุมทราบ
2. ชุดควบคุม เป็นอุปกรณ์ศูนย์กลางหรือหัวใจของชุดระบบสัญญาณเตือนไฟไหม้อัตโนมัติ มีหน้าที่รับสัญญาณจากอุปกรณ์ตรวจสอบเพลิงไหม้อัตโนมัติ และอุปกรณ์แจ้งสัญญาณเตือนไฟไหม้ด้วยมือ โดยการเตือนภัยอาจออกมาในรูปของการแสดงบนชุดควบคุมที่แจ้งสัญญาณเหตุ หรืออาจจะแสดงด้วยเสียงบนชุดกระดิ่งหรือไซเรนก็ได้
การตรวจสอบและการบำรุงรักษา
ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เป็นระบบที่ใช้ในการป้องกันการเกิดอัคคีภัย ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องติดตั้งไว้ใช้เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ อาคารสำนักงานต่าง ๆ จึงต้องมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาดังนี้
1. ศึกษาคู่มือการใช้งานของระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้อย่างละเอียด
2. ผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบต้องเป็นช่างที่ชำนาญงานมีความเข้าใจระบบเป็นอย่างดี
3. จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบระบบสัญญาณเป็นระยะ
4. จัดทำรายงานผลการตรวจสอบระบบสัญญาณทุกครั้งที่ทำการตรวจสอบ
5. ถ้าพบอุปกรณ์ชำรุด หรือสึกหรอให้รีบซ่อมเปลี่ยนทันที โดยช่างผู้ชำนาญการเฉพาะทาง
6. อุปกรณ์ที่เปลี่ยนจะต้องเป็นของแท้ หรือมีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรอง
7. จัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถใช้ระบบสัญญาณได้ทุกคน
8. จัดทำป้ายเตือนภัยตามจุดติดตั้งสัญญาณ ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนทุกจุด
9. จัดทำแผนผังแสดงการทำงานของระบบสัญญาณติดตั้งที่ห้องควบคุมและจุดที่สำคัญในหน่วยงาน
ถ้าได้มีการปฏิบัติตามแผนการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด นอกจากยืดอายุการใช้งานของระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้แล้ว ยังทำให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทั้งชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย
เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ
หม้อแปลงเครื่องมือวัด (Instrument Transformer)
การวัดโดยตรงของแรงดันไฟฟ้าสูง ทำให้ต้องใช้เครื่องมือวัดขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาแพง หม้อแปลงขนาดเล็กและราคาไม่แพงจะถูกออกแบบให้มีขนาดเหมาะสมสำหรับเครื่องมือวัด ซึ่งทำให้เพิ่มความปลอดภัยและเที่ยงตรง หม้อแปลงเครื่องมือวัดแบ่งออกเป็นดังนี้
1. หม้อแปลงต่างศักย์ หรือ หม้อแปลงแรงดัน (Potential Transformer or Voltage Transformer)
การทำงานเช่นเดียวกับหม้อแปลงกำลัง (Power transformer) หรือหม้อแปลงระบบจำหน่าย จะมีขนาดเล็ก และใช้แปลงแรงดันไฟฟ้าสูง ๆ เป็นแรงดันต่ำสำหรับใช้กับโวลต์มิเตอร์ หรือมาตรวัดชั่วโมง หม้อแปลงแรงดันจะมีความเที่ยงตรงมากและมีความผิดพลาดน้อย ลักษณะของหม้อแปลงแรงดันจะมีปลอกฉนวนขนาดใหญ่ 2 อัน เพื่อใช้ต่อเจ้ากับขดแรงดันไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเป็นขดปฐมภูมิ หม้อแปลงชนิดนี้ใช้ภายนอกอาคาร ซึงขดปฐมภูมิอาจต่อเข้ากับระหว่างสายกับสายไฟฟ้าหรือต่อเข้ากับสายไฟฟ้ากับนิวทรัล
2. หม้อ แปลงกระแส (Current Transformer) เป็นหม้อแปลงเครื่องมือวัดสำหรับใช้ต่อเข้ากับแอมมิเตอร์ เป็นหม้อแปลงชนิดลดกระแสลงอย่างเป็นอัตราส่วน หม้อแปลงกระแสนี้ขดปฐมภูมิจะต่ออนุกรมเข้ากัมบสายไฟสายหนึ่ง ประกอบด้วยจำนวนรอบเพียงเล็กน้อย และมีขดลวดใหญ่พันอยู่บนแกนเหล็ก ขดลวดทุติยภูมิ
ประกอบด้วยจำนวนรอบที่มากกว่า แต่ลวดมีขนาดเล็กกว่า โดยพันอยู่บนแกนเหล็กอันเดียวกันกับขดปฐมภูมิ กระแสสูงสุดที่รับได้ของขดปฐมภูมิมีค่าสูงสุดเท่ากับกระแสที่ไหลในสายไฟฟ้านั้น โดยไม่คำนึงถึงกระแสสูงสุดของขดปฐมภูมิ หม้อแปลงกระแสโดยทั่วไปจะบอกอัตราส่วนของกระแส ระหว่างขดปฐมภูมิกับขดทุติยภูมิ เปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดของหม้อแปลงกระแสจะน้อยกว่า 0.5%
หม้อแปลงแบบออโต้ (Auto - Transformer)
หม้อแปลงชนิดนี้บางทีเรียกว่า “หม้อแปลงร่วมขดลวด” เป็นแบบที่มีขดลวดเพียงชุดเดียว ทำหน้าที่เป็นทั้งขดปฐมภูมิและขดทุติยภูมิ จึงเป็นหม้อแปลงที่ประหยัดขดลวด และราคาถูกกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าแบบ 2 ขดลวด การทำงานของหม้อแปลงนี้มีหลักการเช่นเดียวกับหม้อแปลงไฟฟ้าแบบ 2 ขดลวด โดยอัตราส่วนของหม้อแปลงแบบออโต้ต่ำ ส่วนมากแล้วจะไม่เกิน 4 : 1
การใช้หม้อแปลงแบบออโต้มักจะใช้
1. เพื่อชดเชยแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมของสายเคเบิลที่จ่ายไปยังโหลด โดยใช้หม้อแปลงแบบออโต้ต่อเสริมเข้าไปในเคเบิลนั้น ๆ
2. เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สตาร์ทของมอเตอร์เหนี่ยวนำ โดยสามารถใช้ค่าแรงดันไฟฟ้าของตัวเอง ขณะเมื่อมอเตอร์ทำงานเต็มที่
3. เพื่อใช้เป็นหม้อแปลงเตาหลอม เพื่อให้ได้แหล่งจ่ายที่เหมาะสมจ่ายให้กับขดลวดเตาหลอม
หม้อแปลงเครื่องเชื่อมไฟฟ้า (Transformer Welding)
ส่วนมากแล้วมักเป็นที่นิยมใช้เพราะมีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กกว่าเครื่องเชื่อมแบบอื่น ๆ หม้อแปลงชนิดนี้ขดปฐมภูมิจะต่อเข้าดับแหล่งจ่ายไฟฟ้า 220 โวลต์ ส่วนขดทุติยภูมิจะมีเอาต์พุตเป็นไฟฟ้าแรงดันต่ำ แต่กระแสสูงเพื่อให้เหมาะสมแก่การเชื่อมโลหะ สำหรับการปรับกระแสของหม้อแปลงเครื่องเชื่อมไฟฟ้า สามารถทำได้ดังนี้
1. แบบต่อแยกออกมาจากขดทุติยภูมิ เป็นวิธีการปรับกระแสเชื่อมแบบง่าย โดยมีสายต่อเอาต์พุตออกมาสำหรับสายเชื่อมและสายกราวด์ เครื่องเชื่อมแบบนี้ไม่สามารถปรับกระแสเชื่อมแบบต่อเนื่องได้ แต่จะให้กระแสออกมาเป็นช่วง และเครื่องเชื่อมบางเครื่องมีเอาต์พุตสำหรับให้เลือกกระแสเชื่อมไว้ด้านหน้า
2. แบบเลื่อนขดลวด หม้อแปลงเครื่องเชื่อมไฟฟ้าแบบนี้ขดทุติยภูมิถูกยึดให้อยู่กับที่ ส่วยขดลวดปฐมภูมิเลื่อนได้เพื่อเปลี่ยนค่าเส้นแรงแม่เหล็กรั่วไหล ซึ่งทำให้กระแสเปลี่ยนแปลงคือ เมื่อขดลวดอยู่ห่างกันกระแสเอาต์พุตจะต่ำ แต่ถ้าขดลวดทั้งสองอยู่ใกล้กันกระแสเอาต์พุตจะสูง การสร้างหม้อแปลงแบบนี้มีความยุ่งยาก และไม่ทนทาน หม้อแปลงเครื่องเชื่อมไฟฟ้าแบบนี้เป็นวิธีที่สามารถปรับกระแสเชื่อมได้อย่างต่อเนื่อง
3. แบบเลื่อนแกนเหล็ก ใช้วิธีการปรับกระแสไฟฟ้า โดยการเลื่อนแกนเหล็กแกนกลางเข้าออก ถ้าแกนเหล็กถูกเลื่อนไปอยู่ตำแหน่ง 3 จะทำให้เส้นแรงแม่เหล็กรั่วไหลผ่านแกนเหล็กได้สะดวกที่สุด จึงทำให้กระแสเชื่อมมีค่าน้อยที่สุด ลักษณะการเลื่อนแกนเหล็กของหม้อแปลงเครื่องเชื่อมไฟฟ้าแบบเลื่อนแกนเหล็กนี้ใช้งานได้นาน และสามารถปรับกระแสเชื่อมได้อย่างต่อเนื่อง การดูแลรักษาทำได้ง่าย และมีความทนทานสูง จึงเป็นที่นิยมใช้มาก
สายล่อฟ้า
การป้องกันฟ้าผ่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องป้องกันอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และการเกิดเพลิงไหม้ การป้องกันฟ้าผ่าไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องการให้ฟ้าผ่าลงมาซึ่งคาดว่าไม่มีใครห้ามได้ แต่ต้องการให้ฟ้าผ่าลงที่จุดที่กำหนดนั่นเอง วิธีป้องกันฟ้าผ่าได้แยกเป็น 2 ประเภท คือ การป้องกันฟ้าผ่าภายนอกอาคาร และ ภายในอาคาร
1. การป้องกันฟ้าผ่าภายนอกอาคาร การป้องกันชนิดนี้ประกอบด้วย แท่งตัวนำล่อฟ้า ตำแหน่งล่อฟ้า ตัวนำลงดิน รากสายดิน
2. การป้องกันฟ้าผ่าภายในอาคาร การป้องกันชนิดนี้ประกอบด้วย อุปกรณ์จำกัดเสิร์จ และทุกระยะความสูงนอกอาคาร 20 เมตร จะต้องมีวงแหวนระดับ เพื่อประสานให้ศักยภาพในอาคารเท่ากัน
อุปกรณ์กับดักเสิร์จ (Surge arrester)
มีลักษณะแตกต่างกันหลายแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน คือ การป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ให้แรงดันไฟฟ้าสูงผิดปกติ และลดความเสียหายเนื่องจากเสิร์จลง อุปกรณ์กับดักเสิร์จที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น วาริสเตอร์ชนิดโลหะออกไซด์ ตัวต้านทาน หลอดแก๊ส คาปาซิเตอร์ ชุดระงับแรงดันเสิร์จในภาวะชั้วครู่ หรือเรียกว่า “อุปกรณ์ป้องกันเสิร์จ” เป็นต้น
หลักในการป้องกันเสิร์จ แยกอุปกรณ์ป้องกันเป็น 2 แบบ คือ
1. ตัวนำจนกระทั่งกระแสไฟฟ้าลดลงเป็นศูนย์ อุปกรณ์นี้จะมีลักษณะของตัวปล่อยประจุในแก๊ส ซึ่งในขณึ่งในขณะที่เป็นตัวนำจะรองรับกระแสได้สูงมาก เนื่องจากแรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อมมีค่าต่ำมาก จะเกิดการพื่อ
2. เป็นตัวนำเมื่อแรงดันไฟฟ้าสูงผิดปกติ และเปิดวงจรเมื่อแรงดันไฟฟ้าลดลง อุปกรณ์นี้มีลักษณะเป็นวัสดุที่ฉนวนไม่เชิงเส้น ซึ่งเป็นสารออกไซด์ที่มีโครงสร้างเป็นระเบียบในช่วงสั้น ๆ
ข้อกำหนดการเดินสายและวัสดุ
การติดตั้งอุปกรณ์ตู้ควบคุมไฟฟ้า
แผงสวิตช์ (Switchboards) แผงจ่ายไฟขนาดใหญ่ที่รับไฟจากการไฟฟ้า หรือจากแรงดันต่ำของหม้อแปลง เพื่อไปจ่ายโหลดต่าง ๆ เช่น แผงย่อย เป็นต้น ส่วนมากเป็นแบบตั้งพื้นเพราะมีขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีการสร้างตู้จ่ายไฟขนาดมาตรฐาน หรือขนาดความกว้างและความหนาอาจแตกต่างกันออกไป ความหนาจะคำนึงถึงขนาด และจำนวนของ บริภัณฑ์ป้องกันแผงสวิตช์ แผงสวิตช์มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ โครงห่อหุ้มที่ทำจากโลหะ และ บัสบาร์
มาตรฐานของแผงสวิตช์ ที่สำคัญคือ มาตรฐาน IEC ซึ่งมีการทดสอบที่สำคัญ 2 แบบ คือ
1. การทดสอบประจำ (Routine Test) เป็นการทดสอบที่ต้องทำกับแผงสวิตช์ทุกตัวเมื่อผลิตเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่า แผงสวิตช์ไม่ชำรุดเสียหาย และสามารถนำไปใช้งานได้ซึ่งมีการทดสอบ 4 อย่าง คือ การตรวจพินิจพิจารณา การทดสอบไดอิเล็กตริก ตรวจสอบความต่อเนื่องของวงจรป้องกัน ทดสอบค่าความต้านทานฉนวน
2. การทดสอบเฉพาะแบบ (Type Test) เป็นการทดสอบเพื่อแสดงว่า แผงสวิตช์มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐาน IEC โดยมีการทดสอบทั้งหมด 7 อย่างคือ การทดสอบอุณหภูมิเพิ่ม การทดสอบคุฯสมบัติทางไดอิเล็กตริก การทดสอบความทนทานต่อกระแสลัดวงจร การทดสอบประสิทธิภาพของวงจรป้องกัน การทดสอบระยะ การทดสอบการทำงานทางกล การทดสอบ Degree of Protection
การเลือกใช้แผงสวิตช์
1. พิกัดแรงดันของแผงสวิตช์
2. พิกัดกระแสของแผงสวิตช์
3. พิกัดกระแสลัดวงจร
บริภัณฑ์เครื่องวัด (Measuring Instruments)
ค่าต่าง ๆ ทางไฟฟ้ามีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราทราบสภาพการทำงานของระบบไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องมีบริภัณฑ์เครื่องวัด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะติดตั้งอยู่กับแผงสวิตช์วัดค่าทางไฟฟ้าสำคัญต่าง ๆ เช่น กระแส (A) แรงดัน (V) กำลังทางไฟฟ้า (W) ตัวประกอบกำลัง (P.F.) เป็นต้น
การติดตั้งบัสเวย์
หมายถึง บริภัณฑ์ไฟฟ้าที่ใช้ในการนำพลังงานไฟฟ้าปริมาณมาก ๆ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ปัสเวย์ประกอบด้วย ตัวนำบัสบาร์บรรจุภายในกล่องหุ้มพร้อมบริภัณฑ์ช่วยอีกหลายอย่าง เพื่อให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังจุดที่ต้องการได้ บัสเวย์ทำหน้าที่คล้ายสายไฟฟ้าแต่จะมีความคล่องตัวสูงกว่า เพราะสามารถต่อแยก ออกไปใช้งานได้ตลอดความยาว บัสเวย์อาจแบ่งตามลักษณะของกลุ่มได้ 2 แบบคือ
1. แบบมีรูระบายความร้อน (Ventilated Type) จะต้องติดตั้งตามลักษณะที่ผู้ผลิตกำหนดเท่านั้น
2. แบบปิดมิดชิด (Totally Enclosed Type) สามารถติดตั้งได้ทุกลักษณะโดยไม่ต้องลดพิกัดกระแส เนื่องจากสามารถระบายความร้อนได้ทุกลักษณะการติดตั้ง
โครงสร้างของบัสเวย์ มีรายละเอียดดังนี้
1. ตัวนำ มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ตัวนำอะลูมิเนียม และตัวนำทองแดง ซึ่งตัวนำทองแดงสามารถนำกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่า
2. โครง มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดอะลูมิเนียม และเหล็กเคลือบสีอีปอกซี โดยโครงของบัสเวย์มี 2 แบบคือชนิดโปร่งให้อากาศระบายได้ และ ชนิดหุ้มปิดสำหรับกันน้ำ
3. ฉนวน มีด้วยกัน 2 ชนิดคือ Polyester film และ Epoxy coat โดยมีระดับฉนวนเป็น 2 ระดับคือ Class A ทนอุณหภูมิได้ถึง 105 C และ Class B ทนอุณหภูมิได้ถึง 130 C
4. บัสต่อลงดิน มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นทางไหลกลับเมื่อเกิดลัดวงจรลงดิน สำหรับการติดตั้งใช้งานจะมี
Plug in unit เพื่อแทปไฟจากบัสเวย์ไปใช้งาน โดยมีลักษณะเป็นกล่องที่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์อยู่ภายใน
การเลือกแบบ และพิกัดบัสเวย์
การเลือกใช้บัสเวย์ของแต่ละงานต้องพิจารณาตามความต้องการดังนี้
1. ใช้ภายใน หรือ ภายนอกอาคาร ใช้ในบริเวณที่ความชื้น หรือน้ำเข้าไม่ถึง สำหรับแบบภายในอาคารและสำหรับที่ใช้ภายนอกอาคารที่บริเวณมีน้ำรั่ว หรือเข้าได้ บัสเวย์นี้ทำขึ้นพิเศษ โดยจะมีการป้องกันน้ำตามจุดต่อต่าง ๆ
2. พิกัดกระแส เป็นที่นิยมใช้ในการเดินไฟฟ้าของอาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีพิกัดกระแสกว้างมาก ค่าพิกัดกระแสของบัสแวย์เป็นค่าต่อเนื่อง
3. แรงดันตก ค่าพิกัดกระแสต่อเนื่องต้องคำนึงถึงค่าแรงดันตก ถ้าบัสเวย์เดินเป็นระยไกล ๆ ต้องคำนึงถึงแรงดันตกควบคู่ไปกับกระแสพิกัด ถ้าแรงดันตกมากเกินไปอาจต้องพิจารณาเพิ่มบัสเวย์ที่มีพิกัดกระแสสูงขึ้น
4. พิกัดกระแสลัดวงจร บัสเวย์จะต้องสามารถทนแรงแม่เหล็กไฟฟ้า และความร้อนได้ เมื่อเกิดลัดวงจร บริษัทผู้ผลิตได้ทำบัสบาร์ที่สามารถทนกระแสลัดวงจรได้หลายระดับ รุ่นที่ทนกระแสลัดวงจรจะมีราแพง ดังนั้นควรเลือกบัสเวย์ที่มีพิกัดกระแสลัดวงจรที่เหมาะสม
ติดตามข่าวสารที่ LINE : @cctcbangkok.com
|